คำถามพบบ่อย (FAQ)

Q1     : ชอบบัวมาก แต่พอซื้อที่เค้าขายดอกสวยๆมาปลูกทีไร แช่ลงปลูกประเดี๋ยวเดียว ใบก็เล็กลง แถมน้ำเน่าง่าย มีตะไคร่ขึ้น แล้วบัวก็หายไปเลย ทำเอาท้อใจ

A1      : คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิต ที่ ปางอุบล ได้ยินและสอบถามประจำ จะให้เราตอบแบบฟันธง ตรงประเด็น ก็ยากเพราะกรณีที่บัวตายในลักษณะนี้มีตั้งหลายแบบ ผู้อ่านลองพิจารณาดูเอาก่อนว่าท่านเข้าในกรณีไหน มาเริ่มกันเลย สาเหตุ ที่บัวกระถางที่ปลูกแล้วตาย เกิดจากอะไรได้บ้าง

  • ถูกเลี้ยงในภาชนะปลูกแคบ มานานจน ต้น/ราก/เหง้าแน่น อย่างนี้พอเราคลำที่โคนต้นดูก็จะเห็นว่าไม่เจอดินเลย แต่จะเจอรากหรือตะไคร่น้ำแทน ไม่ก็โคลนเละๆ เราเอามาก็ไม่ได้ดูแล ต้นและใบจะเล็กลง ยิ่งโดนตะไคร่แย่งธาตุอาหารและดูดน้ำเลี้ยง ต้นเลยฝ่อตายจนได้

การแก้ไข  : ตอนที่ซื้อมาใหม่ ให้ลองคลำโคนต้นดู ถ้าราก/เหง้า/ต้น แน่นไป ก็รื้อปลูกใหม่ ควรใช้ดินเหนียวปลูกเท่านั้น และหมั่นคอยดูแลอย่าให้น้ำเน่า ตะไคร่ขึ้น ที่สำคัญถ้าปลูกในภาชนะจำกัดต้องช่วยใส่ปุ๋ยให้คุณต้นบัวเค้าด้วยเดือนละครั้งก็ยังดี

  • เลี้ยงในภาชนะที่ไม่เหมาะกับความต้องการของบัว  ข้อนี้เกิดได้จากเพราะเวลาที่เราซื้อมา อาจจะไม่รู้ว่าบัวพันธุ์ที่เราซื้อมานั้นชอบน้ำตื้น-ลึกมากแค่ไหน ต้องดูแลพิเศษหรือไม่ ซึ่งต้องถามผู้ขายที่อาจตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง พอเราเอามาแช่ในอ่างที่เราเตรียมไว้ก็อาจเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นเอาบัวน้ำลึกมาปลูกในที่น้ำตื้น หรือ เอาบัวน้ำตื้นมาปลูกในที่น้ำลึก ซึ่งก็มีผลต่อพันธุ์บัวและการให้ดอกทั้งนั้น

การแก้ไข  : ตอนก่อนจะซื้อลองถามผู้ขายดูว่าเป็นบัวอะไร(ต้องระวังการมั่วนิ่มของผู้ที่ต้องการขายลูกเดียว)  ชอบการปลูกน้ำลึกตื้นแบบไหน แต่ถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลยคงต้องหาความรู้จากหนังสือ หรือสื่อสารสนเทศที่เชื่อถือได้ ว่าบัวที่มีอยู่นั้นเป็นบัวอะไร ปางอุบล ขอแนะนำขนาดภาชนะที่เหมาะกับการปลูกบัวได้เกือบทุกชนิด (ย้ำว่าเกือบนะอาจจะมีบางพันธุ์ที่ปลูกไม่ได้เช่น บัวกระด้ง ) ก็คือ อ่างสำหรับแช่อะไรก็ได้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางซัก 45- – 80 เซนติเมตร และ ความลึกประมาณ 45-80 เซนติเมตร 

  • ที่ตั้งกระถาง/อ่างปลูกไม่เหมาะ  เช่น ได้แดดไม่พอกับความต้องการของบัว ทั่วไปบัวต้องการแดดไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน หรือ เอามาตั้งใกล้น้ำพุ ชายคาที่น้ำฝนตกใส่ แบบนี้บัวจะช้ำและอ่อนแอตายในที่สุด หรือเจอสภาพน้ำที่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป ยิ่งน้ำกร่อยยิ่งเอาไปปลูกไม่ได้เลย

การแก้ไข  : ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยว่า หาที่วางอ่างใหม่เถอะนะ

  • เลี้ยงแต่ไม่ดูแล  หรืออีกนัยหนึ่งคือปล่อยให้เทวดาเลี้ยง โดยเฉพาะในกรณีของการปลูกในภาชนะจำกัด เพราะถึงบัวจะแช่อยู่ในน้ำไม่ต้องมาคอยรดน้ำบ่อยๆ แต่เค้าก็ต้องการความรักและการเอาใจใส่จากเจ้าของเหมือนกัน การดูแลหลักคือ ระวังไม่ให้น้ำเน่า ทั้งจากตะไคร่สาหร่ายรวมทั้งดอก/ใบที่โรยแล้ว ถ้าเจอก็ต้องคอยตักออกปลิดเก็บทิ้ง ต่อมาก็ควรใส่ปุ๋ยให้บ้างเดือนละครั้งก็ยังดี สุดท้ายก็ระวังเรื่องแมลงศัตรูพืชด้วยอาจต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือปลิดออก

การแก้ไข  : แก้ที่คุณเจ้าของ  อย่าพยายามให้เทวดาช่วยเลี้ยงบัวแล้วกัน แต่ก็มีกรณีที่เจอมาอีกแบบคือผู้เลี้ยงรายนี้รักบัวมากเกินไปกลัวตะไคร่ขึ้นบัวอ่างไม่สวยเลยให้ลูกน้องยกอ่างขึ้นมาขัดขูดล้างตะไคร่ทุกวันเลย ผลหรือ อ่างเรียบร้อย น้ำใสสวยงาม แต่ บัวตายสิท่าน โธ่ ….. ยกขึ้นมาตากแดดรื้อ ขัดทุกวัน ไม่ตายยังไงไหว เฮ่อ !

Q2     :  เอาดินอะไรปลูกบัวถึงจะดีทีสุด

A2      : กรณีบัวในกลุ่มอุบลชาตินั้น ก็คือดินที่มีความเหนียวหนืดที่เหมาะสม ควรเป็นส่วนหน้าดินที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ โดยไม่มีเศษใบไม้หรือขยะอินทรีย์ปน คือ ดินต้องการ บางคนก็ว่าเอาโคลนปลูกก็ได้ แต่จากที่ลองใช้โคลนปลูกบัว ก็ตายทุกทีเพราะรากลอย ไม่เกาะดิน ดินที่เหมาะสมคือ ตัวดินควรยึดเกาะเป็นเนื้อเดียวกันดี เพียงพอแก่การยึดรากของต้นบัวไม่ให้ลอย ไม่แข็งแน่นจนรากบัวงอกไม่ได้ สำหรับผู้ที่อยากให้น้ำใสจะใช้วิธีโรยทรายกลบหน้าดินประมาณ 1-2 เซนติเมตรจะช่วยได้

             กรณีบัวในกลุ่มปทุมชาติ หรือ บัวหลวง ควรเป็นดินที่เหนียวและนิ่ม กว่าดินเหนียวที่ใช้ปลูกบัวอุบลชาติ ส่วนตัวคิดว่า หากได้ดินท้องนาที่นิ่มเละเป็นโคลนก็น่าจะดี เพราะไหลอ่อนจะเดินเลื้อยได้ดีไม่ช้ำ

ปรับปรุงข้อมูล 1 ต.ค. 2564